ข่อย เป็นไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน และในอินเดีย สูงประมาณ 5-10 เมตร มีใบขนาดเล็กสีเขียว ใบแข็งหนา ขอบใบมีรอยหยักเล็กน้อย ใบสากจับแล้วไม่ลื่นมือ ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองอมขาว ผลกลมขนาดเล็ก เมื่อสุกจะมีสีเหลือง ขึ้นได้ดีในที่ร้อนและชื้น จนถึงภูมิอากาศแล้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือการตอนกิ่ง
ข่อยถูกจัดเป็นพืชสมุนไพรโดยตรง เพราะไม่มีส่วนใดที่นำไปบริโภค หรือนำไปประกอบเป็นอาหาร สมัยก่อนจะใช้เปลือกต้นข่อยแทนแปรงสีฟัน โดยการนำเปลือกต้นข่อยมาทุบให้แตกแล้วแปรงฟันพร้อมกับเกลือ ป้องกันฟันผุได้ดี แปลงเสร็จใช้ใบฝรั่งเคี้ยวให้ละเอียดแล้วคายทิ้ง เพื่อดับกลิ่นปาก ทำให้ลมหายใจหอมเป็นอันครบวี ปัจจุบันผู้เฒ่าตามต่างจังหวัดก็ยังใช้วิธีนี้กันอยู่ นับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่น่าจดจำ
คุณค่าทางด้านสมุนไพร
- เปลือกราก : นำมาทุบให้แตกหรือปั่นด้วยเครื่องปั่นจากนั้นต้มกับน้ำ ใช้ดื่ม มีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ และบำรุงเลือด
- ใบสด : นำไปตากแดดให้แห้งบดให้เป็นผง เวลาใช้ชงผสมกับน้ำร้อน ใช้ดื่มเพื่อเป็นยาระบายอ่อน ๆ แก้โรคท้องผูก
- เปลือกต้น : ต้มผสมกับน้ำ ใช้ดื่มเพื่อแก้อาการท้องเสีย อมบ้วนปาก ลดอาการปวดฟัน แก้โรคเหงือกร่น แก้ปวดตามกระดูกและเส้นเอ็น นำเปลือกมาทุบให้แตกที่ปลายข้างใดข้างหนึ่งใช้แทนแปรงสีฟัน ช่วยป้องกันอาการฟันผุ แก้อาการปวดฟัน หรือใช้อาบเพื่อฆ่าพยาธิ หรือปรสิตตามผิวหนัง
ยาระบายด้วยใบข่อย
เป็นที่น่าสังเกตว่าคนสมัยก่อนจะไม่ค่อยเผชิญกับอาการท้องผูกกันเสียเท่าไหร่ เพราะรู้จักประยุกต์และดัดแปลงสิ่งใกล้ตัวเป็นยา ใบข่อยก็เป็นอีกหนึ่งสูตรยาที่ใช้กันมานาน โดยการนำใบข่อยสด เลือกเอาใบที่สมบูรณ์เต็มที่ไปตากแดดให้แห้ง บดให้เป็นผงแล้วเก็บใส่กระปุก เก็บไว้ใช้ได้นาน เวลานำมาชงกับน้ำร้อนดื่มบ่อย ๆ เพื่อแก้อาการท้องผูก
ชื่อ : ต้นข่อย (Siamese Rough-Bush)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Streblus asper Lour
วงศ์ : Moraceae